ปัจจุบันการ “รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม” สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งเริ่มตั้งแต่การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไปจนถึงการผ่าตัดไปเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โดยในทุกวิธีการรักษาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อตรวจประเมินและวางแนวทางการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมอย่างเหมาะสม โดยรายละเอียดในแต่ละวิธีจะเหมาะกับลักษณะอาการแบบใด เราได้รวบรวมมาไว้ให้แล้ว วิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม วิธีรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม แพทย์จะพิจารณาถึงอาการ ความรุนแรง ที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเสื่อมสภาพและสึกหรอ ความเจ็บปวด ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และสุขภาพด้านอื่นๆ ของผู้ป่วยร่วมด้วย ซึ่งการรักษา
จะมีหลายวิธีให้เลือกตามความเหมาะสม ดังนี้
1.ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต (non-pharmacological therapy) วิธีนี้เป็นการรักษาที่สำคัญ หากเริ่มรู้สึกปวดหัวเข่า คนไข้ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลตัวเอง รู้แนวทางในการปฏิบัติตัว หรือปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต เพื่อจัดการกับสาเหตุของโรค เช่น การลดน้ำหนัก หากน้ำหนักเกินมาตรฐาน เป็นโรคอ้วนก็ควรลดน้ำหนัก ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารมันๆ ขนมหวาน การดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ยกของหนัก เพราะจะมีแรงดัดต่อข้อเข่าเพิ่มขึ้น โดยทุกๆ 1 กิโลกรัมของน้ำหนักที่แบกหรือยก เข่าจะต้องแบกน้ำหนักเพิ่มประมาณ 3 เท่า ทำให้เข่าเสื่อมเร็วขึ้น การบริหารข้อเข่า การใช้ข้ออย่างถูกต้อง ใช้ข้ออย่างทะนุถนอม บริหารกล้ามเนื้อข้อเข่าอย่างเหมาะสม เพื่อให้กล้ามเนื้อโดยรอบช่วยพยุงกระดูกข้อเข่าให้เสื่อมช้าลง การปรับเปลี่ยนท่านั่งที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งยองๆ พับเพียบ คุกเข่า และการนั่งขัดสมาธิ การนั่งในท่าเหล่านี้จะทำให้เกิดแรงอัดต่อโครงสร้างของข้อ หากทำบ่อยๆ ทำนานๆ ข้อเข่าก็จะเสื่อมมากขึ้นและเร็วขึ้น จนเกิดการอักเสบตามมา พักการใช้งานบ้าง ในกรณีทีมีอาชีพที่ต้องยืนทั้งวัน เช่น แม่ค้า แม่ครัว ควรนั่งพักบ้าง อีกข้อที่สำคัญคือ ควรมีความรู้ความเข้าใจว่า โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดได้กับคนทุกวัย รวมถึงโรคนี้สามารถดูแลรักษาให้อาการดีขึ้นได้ จึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้แบบเลยตามเลยจนอาการลุกลาม ควรรีบมาพบแพทย์จะดีกว่า
2.เวชศาสตร์ฟื้นฟู ทำกายภาพบำบัด การทำกายภาพบำบัดทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูสามารถช่วยลดอาการปวด ลดความฝืดแข็งของข้อ ลดกล้ามเนื้อเกร็งตัว ขณะเดียวกันยังช่วยทำให้กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อมีความแข็งแรงเพื่อช่วยพยุงข้อได้มากขึ้นด้วย โดยควรได้รับการดูแลจากนักกายภาพบำบัดโดยเฉพาะ เพื่อให้การรักษาเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องและปลอดภัย เช่น การนวด เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง ลดอาการปวด ลดความตึงของกล้ามเนื้อ ทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น การใช้ความร้อน-ความเย็น (thermal modalities) เพื่อลดข้อฝืด ลดอาการปวด ลดกล้ามเนื้อเกร็ง ป้องกันการหดสั้นของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น โดยการใช้ความร้อนจะมี 2 แบบคือ ความร้อนตื้นและความร้อนลึก ความร้อนตื้น เช่น การใช้กระเป๋าน้ำร้อน ความร้อนลึก เช่น การใชอัลตราซาวด์ ที่มักใช้กับข้อใหญ่และอยู่ลึก การใช้อุปกรณ์ที่ช่วยพยุงข้อ (supports devices) เช่น การใช้ที่รัดเข่าเพื่อช่วยลดอาการปวด ทำให้บริเวณหัวเข่ากระชับ หรือใช้ Walker ใช้ไม้เท่า เพื่อช่วยประคองการทำงานของหัวเข่า
3.การออกกำลังกาย (exercise) การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าได้ เพิ่มความกระชับและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ เพิ่มความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวของข้อเข่า รวมถึงยังช่วยลดไขมันในผู้ที่มีภาวะอ้วน ลดอาการปวดเมื่อยบริเวณหัวเข่า แต่ทั้งนี้ต้องเลือกชนิดของการออกกำลังกายที่เหมาะสมตามลักษณะอาการด้วย
4.การรักษาด้วยการใช้ยา (pharmacological therapy) อาจจะเป็นแบบรับประทาน แบบฉีด หรือแบบทา ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เพื่อใช้บรรเทาอาการปวด ทำให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้ และใช้ข้อได้ดีขึ้น การฉีดยา เพื่อรักษาอาการข้อเข่าเสื่อมให้ดีขึ้นได้ โดยต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจเสี่ยงต่อการสะสมของยาเคมี ยาแก้ปวดข้อเข่า การรับประทานยาแก้ปวดข้อเข่า ได้แก่ ยาแก้ปวดที่ไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ยาต้านการอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ก็ช่วยลดอาการปวดหัวเข่า และต้านอักเสบได้เช่นกัน ยาทาเฉพาะที่ เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวด
5.การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Knee Arthroplasty) การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จะเป็นการผ่าตัดเฉพาะส่วนผิวข้อเข่าที่เสื่อมสภาพออก โดยจะไม่ตัดกระดูกเดิมออกทั้งหมด และจะทำให้กระดูกมีรูปร่างรับกับผิวของข้อเทียมที่จะใส่เข้าไป แล้วสวมข้อเข่าเทียมครอบลงไป โดยข้อเข่าเทียมจะทำหน้าที่ทดแทนผิวกระดูกอ่อนในภายในข้อเข่าที่เสียไป